สถานะ
ไม่ได้ลงทะเบียน
ราคา
ไม่มีค่าใช้จ่าย
เริ่มเรียน

หลักการและเหตุผล

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77 ได้กำหนดหลักการเกี่ยวกับการมีกฎหมายภายในรัฐ โดยกำหนดกรอบให้รัฐจะต้องมีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และจะต้องยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือประกอบวิชาชีพของประชาชน และกำหนดให้รัฐมีหน้าที่หลักเกี่ยวกับการจะมีหรือมีอยู่ของกฎหมายสามประการ คือ หนึ่ง หน้าที่ของรัฐก่อนการตรากฎหมาย โดยรัฐจะต้องรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมาย และวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมายนั้นอย่างรอบด้าน
และนำผลของการรับฟังความคิดเห็นและผลการวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมายมาประกอบการพิจารณาร่างกฎหมายทุกขั้นตอน สอง หน้าที่ของรัฐในการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ซึ่งจะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ เพื่อพัฒนาปรับปรุงกฎหมายให้มีความเหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป และสาม รัฐมีหน้าที่จะต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายได้อย่างสะดวกและเข้าใจกฎหมายได้ง่าย 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวนี้อยู่ในหมวด 5 ซึ่งกำหนดว่าด้วย “หน้าที่ของรัฐ” แต่ก็ไม่ได้กำหนดว่าในกรณีที่รัฐไม่ปฏิบัติตามที่บัญญัติในมาตรา 77 นั้น จะมีบทลงโทษอย่างไร หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่ได้มีการบังคับเด็ดขาดว่ารัฐจะต้องปฏิบัติตาม แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการยกร่างกฎหมายก็ให้ความสำคัญกับบทบัญญัติดังกล่าวเป็นอย่างมาก ที่สำคัญ เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ก็ยิ่งทำให้การดำเนินการตามมาตรา 77 มีความชัดเจน จนปัจจุบันแทบจะเรียกได้ว่า หน่วยงานที่ต้องการเสนอร่างกฎหมายไม่ว่าจะเป็นคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะต้องดำเนินการตามบทบัญญัติมาตรา 77 จึงจะสามารถนำร่างกฎหมายนั้นเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติได้ ทั้งนี้ การดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 77 ก็ยังถือเป็นเรื่องใหม่ที่หลายหน่วยงานต้องการเรียนรู้ และยังเป็นกระบวนการที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับงานนิติบัญญัติยังต้องช่วยกันพัฒนากระบวนการเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่บรรลุตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 

สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า จึงได้พัฒนา “หลักสูตรความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 77 : กรณีการจัดทำกฎหมาย” ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นเพื่อเป็นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการในบทบัญญัติดังกล่าวของรัฐธรรมนูญโดยนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับแนวคิดและหลักการเบื้องต้นของรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 77 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเสนอร่างกฎหมาย ซึ่งสามารถนำไปใช้ประกอบกับการเรียนการสอนในหลักสูตรที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 77 หรือสามารถนำไปใช้เพื่อทำความเข้าใจหลักการเบื้องต้นของรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 77 สำหรับผู้สนใจทั่วไป 

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร 

1) เพื่อให้ผู้เรียนมีความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการและแนวคิดเบื้องหลังของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77 

2) เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกระบวนการที่จะเป็นกลไกทำให้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77 บรรลุผลสมกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 

เนื้อหาของหลักสูตร 

หลักสูตรนี้อธิบายถึงความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตรากฎหมาย ซึ่งอธิบายถึงแนวคิด หลักการ และเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าว ตลอดจนกลไกที่จะทำให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้นบรรลุผล