แนวคิด (Concept)
การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือ ระบอบการปกครองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการปกครอง ประชาชนสามารถใช้อำนาจได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐภายใต้รัฐธรรมนูญ
วัตถุประสงค์การเรียนรู้
- เพื่อให้สามารถทำความเข้าใจ แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการปกครอง และสามารถใช้อำนาจได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐภายใต้รัฐธรรมนูญ
- เพื่อสามารถประเมินความรู้ ความสามารถเบื้องต้น ในเรื่องของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
- เพื่อให้สามารถพัฒนาตนเองในด้านความรู้ที่เกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมากยิ่งขึ้นและสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
หลักการและเหตุผล
หลักการสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้นถือว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ หรือที่เรียกว่า “อำนาจอธิปไตย” นั้นเป็นของประชาชนทุกคนร่วมกัน การทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “อำนาจของประชาชน” นั้น จำเป็นต้องเข้าใจถึงความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” ในเบื้องต้นก่อน จากนั้นจึงพิจารณาต่อไปว่าอำนาจการปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยนั้นมีลักษณะสำคัญอย่างไร และเนื่องจากว่า “การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มีลักษณะโครงสร้างและกระบวนการใช้อำนาจที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา การทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายทั่วไปและลักษณะสำคัญของประชาธิปไตยระบบรัฐสภาจะช่วยให้เห็นภาพของรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของประเทศไทยได้ชัดเจนขึ้น
สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะสถาบันทางวิชาการ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของประธานรัฐสภา มีพันธกิจสำคัญในการเผยแพร่ความรู้ด้านการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไปสู่สาธารณชน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้อยู่ในแวดวงสำคัญต่าง ๆ ของสังคมไทย ที่สนใจและอยากมีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อทำความเข้าในลักษณะการศึกษาเปรียบเทียบ ทั้งในแง่ของโครงสร้าง เนื้อหา และบริบทของแนวคิดการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ประกอบกับการพัฒนาระบบ e-Learning เพื่อรองรับการเรียนการสอนที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน สถาบันพระปกเกล้า จึงได้จัดให้มีการเรียนการสอนผ่านระบบ e-Learning ในหลักสูตร “รู้รอบระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ขึ้น ประกอบด้วยเนื้อหารวม 4 หัวข้อ เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในประเทศไทย
โครงสร้างหลักสูตร
ประกอบด้วย 4 หัวข้อ ดังนี้
1. บทนำสู่ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
หัวข้อนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำความเข้าใจในเบื้องต้นเกี่ยวกับความหมายและองค์ประกอบสำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
2. พื้นฐานประชาธิปไตย
หัวข้อนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเข้าใจโดยภาพรวมเกี่ยวกับ ความหมาย ประเภท และลักษณะทั่วไปของประชาธิปไตย ที่อำนาจการปกครองเป็นของประชาชน โครงสร้างและหลักการสำคัญโดยทั่วไปของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งในระดับสากลและประเทศไทย
3. สิทธิ หน้าที่ และการมีส่วนร่วมของพลเมือง
หัวข้อนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มีความเข้าใจถึงการใช้อำนาจของประชาชน เนื่องจากระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น แม้อำนาจอธิปไตยจะเป็นของประชาชน แต่การใช้อำนาจของประชาชนอาจเป็นการใช้โดยตรงหรือโดยผ่านตัวแทนก็ได้ หัวข้อนี้จึงเน้นให้ผู้เรียนได้เข้าใจถึงหลักการพื้นฐานของสิทธิและเสรีภาพ การมีส่วนร่วม และการให้ประชาชนมีความรู้และตื่นตัวกับศักยภาพของตนเองในฐานะพลเมืองในระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตย
4. สถานะ บทบาท พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ หัวข้อนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐของประเทศไทยภายใต้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญซึ่งบัญญัติเรื่องพระราชสถานะและพระราชอำนาจไว้อย่างชัดเจน ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนในบริบทไทยที่มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์อย่างยาวนาน